เวลาอยู่ในพายุอารมณ์ ต้องมีหลักยึด

ใครเคยอยู่ในห้วงที่เผชิญสิ่งที่กระทบรุนแรงต่ออารมณ์ และตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้ไหมคะ

เมื่อเร็วๆนี้ ฉันได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งค่ะ คือเพื่อนเป็นโรคที่ ถ้าใครได้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ จะตกใจไปไม่ถูก และอยู่ในภาวะหวาดกลัวกันเกือบทุกคน ฉันได้เข้าไปเผือก เอ้ย ไปยุ่งเกี่ยว เนื่องจากมีโอกาสได้พาเพื่อนไปตรวจหลายครั้งค่ะ

เนื่องจากโรคนี้ต้องมีการตัดสินใจหลายอย่าง ทั้งการเลือกโรงพยาบาล การเลือกหมอที่ตัวเองศรัทธาในความสามารถจากข้อมูลเท่าที่ได้มา ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกโรงพยาบาล การใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ความรวดเร็วของการวินิจฉัย และการได้รับการตรวจรักษา และปัจจัยจากคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัว เรียกได้ว่าเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ทั้งสิ้น เป็นสิ่งใหม่ และดูน่ากลัวทั้งสำหรับตัวผู้ป่วยเอง และคนรอบตัว

การเข้าพบหมอแต่ละครั้ง แต่ละที่ เมื่อได้คุยกับหมอแล้ว จะมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจเลือก เช่น ต้องตัดสินใจว่าจะรักษากับหมอ และโรงพยาบาลใดกันแน่ การตรวจละเอียดจะทำที่นี่ หรือจะทำอีกที่ ความรวดเร็ว ความล่าช้า ของผลการวินิจฉัย และความรวดเร็วที่จะได้รับการรักษา และปัจจัยสำคัญที่ต้องมาถ่วงน้ำหนักอย่างมากคือ ค่ารักษาที่จะเกิดขึ้นตลอดคอร์สการรักษา เรียกได้ว่าต้องทำงานกับข้อมูลเท่าที่มี เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เราไม่รู้เรื่อง

ฉันมีโอกาสได้เห็นว่า ตัวเพื่อนเองอยู่ในภาวะหมกมุ่นในทุกข์จากความเจ็บป่วย การตัดสินใจดูสับสนไปหมด ส่วนญาติที่แวดล้อมก็สับสนไม่แพ้กัน จากการฉันเป็นคนนอก ซึ่งความทุกข์ความกังวลมีน้อยกว่า จึงต้องช่วยในการตัดสินใจบางอย่าง เพราะไม่มีใครยอมตัดสินใจ โดยฉันยึดหลักการ ดังนี้

-ค่าใช้จ่ายในการรักษา : สิทธิการรักษามีที่ไหน

-ร.พ.ที่มีสิทธิการรักษานั้น มีศักยภาพในการรักษาหรือไม่ (หมอเฉพาะทาง และ facility ของร.พ.) : อันนี้คือการดูประสบการณ์ และประวัติของหมอ หาทั้งจากในเน็ตและคนรอบตัว เครื่องมือต่างๆ ห้องตรวจปฏิบัติการ (อันนี้ดูจากขนาดของร.พ.เอา)

-ความรวดเร็ว ขั้นตอนไหนทำให้เร็วได้ ถ้าสามารถจ่ายได้ ไม่เกินเอื้อม ให้ยอมจ่าย (เช่นการส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการภายนอก) การเจรจาคุยกับแพทย์อย่างตรงไปตรงมา ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ให้รวดเร็วขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญ

-การคุยกับหมอ อะไรสงสัยให้ถาม เพราะข้อมูลที่ได้ จะสามารถเอาพิจารณาทางเลือกได้เป็นอย่างดี อย่าให้ความเกรงใจเข้าครอบงำ จนไม่กล้าถาม เพราะจะทำให้เราต้องตัดสินใจบนความไม่รู้

พอฉันมีหลักการแล้ว เวลาเจอเรื่องที่ต้องตัดสินใจจากการคุยกับหมอ และเพื่อนหันมาให้ฉันตัดสินใจ ฉันก็จะใช้หลักการนี้ตลอด โชคดีของเพื่อนฉันอย่างมากที่ร.พ.ที่มีสิทธิการรักษานั้้น มีหมอเฉพาะทางที่เก่ง และร.พ.มีศักยภาพในการรักษา

ฉันเลยได้บทเรียนจากเหตุการณ์ข้างบนว่า เวลาเราเผชิญสภาวะวิกฤต และรู้สึกสับสนไปหมด เราต้องลดปัจจัยด้านอารมณ์ให้มีน้อยลง สิ่งที่ช่วยได้คือ อาจหาคนนอก ช่วยในการปรึกษา (ข้อด้อยก็คือ คนนอกนั้นก็จะมีอคติของตัวเองได้ เช่น ตัวฉันเอง หลักการที่ฉันเขียนข้างบน จะถูก จะผิด ฉันก็ไม่รู้^^) ควรเลือกผู้ที่เราจะปรึกษาว่าควรเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นค่อนข้างมาก เป็นผู้มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ แต่ฉันอยากแนะนำอีกเทคนิคหนึ่งไว้ด้วย คือการเขียน เพราะการเขียนจะทำให้เป็นการระบายปัจจัยด้านอารมณ์ออกมาได้มาก เป็นการทำให้อารมณ์เราแจ่มใส เห็นอะไรได้ชัดเจนมากขึ้น และเมื่อเรามาอ่าน เราจะเหมือนคนนอก จับประเด็นได้มากขึ้น และความคิดจะแจ่มชัดขึ้น และหลังจากอ่านแล้วให้สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่านสิ่งที่เราเขียนไป และ เขียนความคิดที่ผุดขึ้นมาว่า เราควรมีหลักการ แนวทาง ขั้นตอนที่คิดจะทำต่อไปอย่างไร ปัจจัยใดสำคัญมาก สำคัญน้อย การตัดสินใจของเราก็จะมีหลักการมากขึ้น

เอวัง ก็มีด้วยประการละฉะนี้ (ขอจบห้วนๆเลยค่ะ^^)