สื่อสารตรงๆ ดีกว่าคิดแทน

มีครั้งหนึ่งฉันได้เข้าร่วมอบรมกับชมรมI see U ซึ่งเป็นการอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งหนึ่งที่มีการย้ำกันมากในคลาสคือการสื่อสาร มีกิจกรรมหนึ่งซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนระหว่างสิ่งที่สื่อสาร กับความต้องการที่แท้จริงของผู้สื่อสาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ฉันชอบมากกิจกรรมหนึ่งเลยคือ มีการให้เราลองใช้คำพูดที่เราพูดเป็นประจำเวลาที่เราไม่ได้ดั่งใจ พูดกับคนที่อยู่ใกล้เราที่สุดในคลาสอบรม โดยผลัดกันพูดและให้ผู้ฟังเดาว่า สิ่งที่ผู้พูดพูดออกมาแท้จริงต้องการอะไรกันแน่ และสลับคู่วนไปเรื่อยๆ

อย่างตัวฉันเองคำพูดติดปากที่มักจะพูดเวลาที่มีคนมาขอคำแนะนำ แล้วเมื่อแนะนำอะไรไป เขากลับไม่ยอมรับที่จะเอาไปพิจารณาแต่ยังยืนหยัดความคิดเดิมของตัวเอง ฉันมักจะพูดว่า “ก็แล้วแต่นะ พิจารณาเองแล้วตัดสินใจเองนะ”(ด้วยน้ำเสียงแนวประชดนิดๆ) พอฉันพูดกับคู่แต่ละครั้งในคลาส น้อยคนที่จะเดาได้ถูกต้องว่า ความรู้สึกหรือความต้องการจริงๆเบื้องหลังการพูดออกไปอย่างนั้นของฉันคืออะไร เพราะความรู้สึกของฉันคือ เคือง และเสียหน้า ส่วนความต้องการจริงๆของฉันคือ ต้องการการยอมรับ การมีความสำคัญ การให้เกียรติค่ะ สำหรับกิจกรรมนี้ ตัวฉันเองก็ใช่ย่อย เดาความรู้สึก ความต้องการของคู่ได้ถูกแค่ประมาณ 10-20% เองค่ะ

มันก็แอบน่าแปลกอยู่นะคะ ว่าทำไมเราไม่พูดสื่อสารกันตรงๆ อาจเป็นเพราะเราต่างมีความเป็นตัวตน มีภาพพจน์ตัวเองที่เราสร้างขึ้น ความเกรงใจ ความรัก ความคาดหวัง ความไม่พอใจ ลักษณะความสัมพันธ์ ความ…….ต่างๆมากมาย ทำให้เราไม่สื่อสารกันตรงๆ ทำให้เข้าใจผิดเพี้ยนกันไปใหญ่

และที่สำคัญคือ การคิดแทนว่าคนนั้นจะต้องรู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่มีใครสามารถคิดแทนใครได้ถูกต้อง 100% หรอกค่ะ (ขนาดตัวเราเอง เราสมมติว่าในอนาคต ถ้าเจอเหตุการณ์อะไร เราจะรู้สึกและต้องการอะไร แต่พอเมื่อเจอเหตุการณ์นั้นจริงๆ มันอาจไม่ได้รู้สึก หรือมีความต้องการแบบที่เราคิดล่วงหน้าก็ได้ นับประสาอะไรกับคนอื่นจะรู้แทนเราได้นะคะ)

สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในคอร์สอบรมนี้มีเคสตัวอย่างมากมาย ที่ผู้ป่วยทนความทุกข์ทรมานไม่ไหว ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เรียกได้ว่าด้วยร่างกายที่เปราะบางเต็มทน ถ้าไม่มีการยื้อทางการแพทย์น่าจะเหลือเวลาไม่มากแล้ว แต่ญาติๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกที่มีความกตัญญูเฉียบพลัน (คือมักเป็นลูกที่อยู่ไกล ไม่ได้มาดูแล มาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราวนานๆที)
มักจะให้แพทย์ยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้นานที่สุด ในขณะที่ลูกที่ดูแลอยู่ทุกวันรับรู้ความทรมานของบุพการีเป็นอย่างดี และได้รับฟังคำสั่งเสียที่ว่าจะไม่ขอยื้อชีวิตถ้าป่วยหนักเกินเยียวยา แต่ลูกๆที่คอยดูแลเหล่านี้มักจะลำบากใจและแอบรู้สึกผิดถ้าไม่ได้ยื้อชีวิต และจะกลายเป็นจำเลยทางใจของลูกกตัญญูเฉียบพลันอีกด้วย หรือไม่ก็จะเกิดการเถียงทะเลาะกัน งานนี้ผู้ที่ทรมานยิ่งกว่าใครก็คือผู้ป่วยนั่นเอง ที่พี่ๆในคอร์สที่อบรมเน้นย้ำมากก็คือ ต้องระลึกไว้ในใจเสมอว่า ” เราอยากให้ หรือเขาอยากได้”

สำหรับตัวเราเองนั้น ถ้ามีโอกาสได้บอกกล่าวคนรอบข้างไว้บ้างก็จะเป็นการดีนะคะ ว่าเมื่อใกล้วาระสุดท้ายเราต้องการอย่างไร เพราะชีวิตมันไม่แน่นอนใช่ไหมคะ เพราะความตายไม่ได้เกิดแต่กับคนอายุมาก สื่อสารกันก่อนที่จะไม่มีแรง ไม่มีโอกาสสื่อสารนะคะ ไม่งั้นจะมีคนคิดแทนเราที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของเราได้นะคะ

เรามาฝึกสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ให้เกียรติความต้องการของกันและกัน และสื่อสารกันอย่างพร้อมจะรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง และเหมาะกับกาลเทศะกันนะคะ จะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ