ความรู้สึกขาดในวัยเด็ก

ในตอนเป็นเด็กเล็กๆนั้น เท่าที่จำได้ ฉันเป็นเด็กที่ร่าเริงสดใส รู้สึกมั่นใจในตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงออกแต่พอค่อยๆโตขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ตอนอยู่อนุบาลนั้น เหมือนฉันเคยได้ยินพ่อกับแม่คุยกันเรื่องค่าเทอม แล้วฉันก็รู้สึกว่า มันคงแพง คือดูจากสีหน้าพ่อกับแม่เวลาพูดเรื่องนี้แล้ว ดูรู้ว่าไม่ค่อยสบายใจ ทำให้เวลาหลังเลิกเรียนหลังจากนั้น ฉันนั่งตะโกนว่า………(ชื่อเจ้าของโรงเรียน)…บ้าเลือดๆ (น่าจะจำมาจากในทีวี) เผื่อให้ครูได้ยินและไปบอกเจ้าของโรงเรียน ฉันทำแบบนั้นไปอีก 2-3 วัน พอไม่ได้ผลอะไร เลยเลิกทำ (ดีแล้วที่เค้าไม่ไล่ออก)

วันเวลาที่ผ่านไป กับความประหยัดมากขึ้นในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพ่อจากไปตอนฉัน 7 ขวบ ความประหยัดยิ่งต้องมากขึ้นไปอีก ความขาดแคลนในใจยิ่งมากขึ้น ฉันเข้าใจฐานะของครอบครัวพอสมควร จึงประหยัดและไม่เรียกร้องอะไร แม้จะอายเพื่อนในหลายๆเรื่อง เช่น การค้างค่าเทอม(ซึ่งทำให้ไม่ได้สมุดพกเลยไม่รู้ผลการสอบ) ของขวัญไปจับฉลากวันปีใหม่ที่แม่จัดให้คือนมข้นหวาน (จนครูระพี (ฉันจำชื่อและใบหน้าของครูได้จนบัดนี้) เห็นรูปร่างกระดาษห่อ ถึงกับต้องเข้ามาถาม แต่สายตาครูยังจำได้ถึงขณะนี้ คือ เป็นสายตาแห่งความเมตตา เห็นอกเห็นใจโดยแท้จริง) ชุดนักเรียน(ที่ตกทอดหลายทอดจนซีดเก่า มีรอยรีดเงาๆมันๆตามจีบกระโปรง) หนังสือที่
เก๊าเก่า ในขณะที่หนังสือของเพื่อนใหม่เอี่ยม (ได้กลิ่นใหม่ของสมุด ฉันชอบกลิ่นนี้มาก เลยชอบเข้าร้านเครื่องเขียน ไปดูๆ ไม่ได้ซื้อ) การไม่ซื้อขนมกิน นานๆจะซื้ออะไรกินสักที(อยากกินมาก แต่ต้องเก็บไว้ เพื่อไม่ให้แม่ต้องจ่ายวันต่อไป และส่วนหนึ่งเก็บไว้ให้ขอทานบนสะพานลอยใกล้บ้าน) ที่จำแม่นคือชั่วโมงศิลปะ ที่ดินสอสีที่มีกุดสั้น และมีจำนวนสีน้อย บางสีก็ไม่มี ฉันเลยต้องโกหกเพื่อนว่าลืมเอามา แล้วขอเค้าใช้ด้วย ซึ่งเพื่อนก็ไม่เต็มใจเลย แล้วก็ว่าว่า อะไรกัน ลืมอีกแล้วเหรอไง เป็นประจำเลยนะเธอ และบางครั้งเพื่อนบางคนก็ถึงกับเข้ามาถามว่า นี่เธอ เธอได้ตังค์วันละกี่บาทเนี่ย ฉันไม่เห็นเธอซื้ออะไรกินเลย

การเปรียบเทียบเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉันอยู่ในโรงเรียนเอกชนชั้นดี ในเวลานั้น เพราะพ่อแม่เห็นความสำคัญของการศึกษามาก ซึ่งแน่นอนมากกว่าครึ่งเป็นลูกคนมีฐานะ ที่เหลือเป็นเด็กที่มีบ้านและ พ่อแม่ทำกิจการอยู่ย่านนั้น(สุขุมวิท) ช่วงปิดเทอม ก็มีไปซัมเมอร์กันที่ต่างประเทศ มีของแปลกๆมาอวดตอนเปิดเทอมด้วย

การเปรียบเทียบ ยิ่งตอกย้ำความขาดที่สะสมให้มากขึ้นๆ กลายเป็นคนที่รู้สึกขาด ไม่เต็มอิ่ม และมีความอิจฉาริษยาอยู่ภายในใจโดยไม่รู้ตัว ความรู้สึกภายในของฉันคือ ฉันเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย และก็มีกรอบความคิดที่มองหาแต่สิ่งที่ตัวเองเชื่อ(คือตัวเองด้อย) มาตอกย้ำให้แน่นสนิทเข้าไปอีก

ฉันเป็นแบบนั้นมาเนิ่นนาน สะสมความรู้สึกนี้ให้พอกพูนยิ่งขึ้นไปอีก มาบัดนี้ ฉันค่อยๆมองย้อนกลับไปในอดีต ทบทวนตัวเอง และรู้สึกเมตตาตัวเองมากขึ้น แต่สิ่งที่พอกพูนนั้น ตอนสะสมก็สะสมมาเนิ่นนาน พอจะค่อยๆลด มันเลยต้องใช้เวลา

ตอนนี้ เมื่อฉันเกิดความอิจฉาริษยาขึ้นมา ฉันก็พยายามฝึก การรับรู้ความรู้สึก และปล่อยมันไป (แต่ยังทำไม่ได้อัตโนมัติ) พอดีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสได้ขอโอกาสท่านพ่อแม่ครูอาจารย์พระอาจารย์ชาญชัย อธิปปัญโญ และฉันได้ส่งการบ้านท่านว่า ฉันมักอิจฉาริษยา ท่านได้เมตตาสอนฉันให้พิจารณาความเป็นเหตุปัจจัย เขาสร้างเหตุอย่างไร เขาก็จะได้ผลอย่างนั้น เราสร้างเหตุอย่างไร เราก็จะได้รับผลอย่างนั้น ให้พิจารณาในแง่นี้ ดีแล้วที่รู้ว่าอิจฉาริษยา ฉันจึงขอน้อมรับคำสอนครูบาอาจาย์ ไว้นำไปพิจารณาและจะฝึกฝนต่อไป ขอน้อมกราบครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพค่ะ_/\_